() คาดการณ์ยอดรถยนต์ไฟฟ้าปี 66 สูงแตะ 15 ล้านคัน

การ์ทเนอร์คาดการณ์ยอดการจัดส่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก (แบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด) ในปี 2566 มีปริมาณเกือบ 15 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 19% ในปี 2567 คิดเป็นยอดรวม 17.9 ล้านคัน

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ในปี 2567 ปริมาณการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด ตั้งแต่ รถยนต์ (Cars) รถโดยสาร (Buses) รถตู้ (Vans) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Trucks) จะมียอดรวมที่ 18.5 ล้านคัน  โดยในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 97% ของยอดการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในปีหน้า (ดูตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: ปริมาณการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ปี 2565-2567 (หน่วยตามจริง)

 ยอดจัดส่ง ปี 2565ยอดจัดส่ง ปี 2566ยอดจัดส่ง ปี 2567
รถยนต์11,128,80514,975,29617,855,428
รถโดยสาร198,731202,733207,845
รถตู้137,668218,337349,950
รถบรรทุกขนาดใหญ่ 22,59530,16239,349
Total11,487,79815,426,52918,452,573

ที่มา: การ์ทเนอร์ (กันยายน 2566)

การ์ทเนอร์คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ทั่วโลกจะเติบโตจาก 9 ล้านคันในปี 2565 เพิ่มเป็น 11 ล้านคัน ภายในสิ้นปี 2566 โดยคาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จะเติบโตช้าลงเล็กน้อยจาก 3 ล้านคัน ในปี 2565 เพิ่มเป็น 4 ล้านคันในปี 2566

โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “สัดส่วนของรถ PHEV คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น โดยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นชื่นชอบรถ PHEV มากกว่ารถ BEV โดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาเลือกใช้รถ PHEV มากกว่า BEV เนื่องจาก PHEV มีความสามารถที่ผสมผสานระหว่างการขับขี่ในเมืองที่ไร้มลพิษด้วยพลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ และยังมอบความสะดวกสบายในการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพื่อการเดินทางที่ยาวนานและไกลขึ้น ซึ่งในตลาดยุโรปตะวันตก จีน และอินเดียแตกต่างออกไป โดยรถ PHEV ได้รับความสนใจน้อยกว่า BEV เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการใช้งานโดยรวมที่ต่ำกว่า รวมถึงประสบการณ์การขับที่เงียบกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ในปี 2573 จำนวนรถยนต์ทุกรุ่นที่ผลิตออกมาทั้งหมด จะเป็น EV มากกว่า 50%

การตัดสินใจของภาครัฐบาลที่มุ่งมั่นลดการปล่อยฝุ่นละอองจากยานพาหนะและการริเริ่มโครงการสนับสนุนในบางประเทศ อาทิ การออกกฎหมายเพื่ออนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และการออกข้อบังคับให้ต้องใช้รถ PHEV เป็นอย่างน้อย อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนของผู้ผลิตรถยนต์ โดยผู้ผลิตรถยนต์บางรายกำลังมองหาวิธีกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากท่อไอเสียของรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ ๆ ภายในปี 2578 และบางรายตั้งเป้าที่จะบรรลุยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดสหรัฐฯ ให้ได้ 40% ถึง 50% ต่อปี ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าได้นำไปสู่การเปิดตลาดใหม่ ๆ ของแพลตฟอร์มการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV Platform)

“กฎระเบียบด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ที่ทำอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573” ดาเวนพอร์ต กล่าวเพิ่ม 

ในปี 2570 รถ BEV จะมีราคาเท่ากับรถ ICE ที่มีขนาดและรูปแบบคล้ายกัน

นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ยังคาดว่า ภายในปี 2570 ราคาเฉลี่ยของรถ BEV จะเท่ากับรถยนต์ ICE ที่มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเร่งให้เกิดการใช้ EV ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2573 การผลิตไฟฟ้าและประสิทธิภาพเครือข่ายจะเป็นปัจจัยกำหนดการใช้งาน EV ให้แพร่หลายเหนือกว่าปัจจัยด้านราคา

“เว้นแต่ในประเทศต่าง ๆ จะจูงใจผู้ขับขี่รถ EV ให้ชาร์จแบตเตอรี่นอกช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด นอกจากนี้การเปลี่ยนไปใช้รถ EV อาจสร้างความต้องการที่มากขึ้นเพิ่มเติมทั้งในด้านไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานในการจ่ายไฟ” ดาเวนพอร์ต กล่าวเพิ่ม

“การใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบกลางวันและกลางคืน (Dual Day and Night) หรือแม้แต่การใช้อัตราค่าไฟฟ้ารายครึ่งชั่วโมง (Half-Hourly Electricity Tariffs) สามารถจูงใจผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าให้หันมาชาร์จไฟนอกช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก (Peak Times) ซึ่งจะต้องมีการนำมาตรวัดพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้เป็นวงกว้าง นอกจากนั้น ความสามารถของสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องชาร์จ EV โดยตรงผ่านการเชื่อมต่อจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง หรือ Application Programming Interfaces (API) จะทำให้การชาร์จ EV ถูกลดทอนลงชั่วขณะระหว่างช่วงเวลาที่มีการบริโภคสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการการใช้ไฟฟ้าจะไม่มากเกินไป” ดาเวนพอร์ต กล่าวสรุป

เกี่ยวกับการ์ทเนอร์ 

บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner, Inc.) (: IT) คือบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก มอบข้อมูลเชิงลึก คำแนะนำ และเครื่องมือต่าง ๆ แก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบันและสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จในอนาคต ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางของการ์ทเนอร์ในการช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจได้ที่ gartner.com