เรือขนส่งสินค้าเอ็ม.วี. โมล์ กลองเดอ (M.V. MOL GRANDEUR) ของสายการเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (Ocean Network Express – ONE) เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือชุด D เป็นครั้งแรก
เรือขนส่งสินค้าเอ็ม.วี. โมล์ กลองเดอ มีขนาด 5,556 ทีอียู ความยาว 275 เมตร ในครั้งนี้ทางฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ได้ใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง ซึ่งควบคุมการปฎิบัติงานจากระยะไกลเป็นครั้งแรก และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย ถูกต้องแม่นยำ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
ท่าเทียบเรือชุด D เฟส 1A ก่อสร้างเสร็จกลางปี 2561 และเฟส 1 นี้ จะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์กลางปี 2562 เมื่อท่าเทียบเรือชุด D ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทุกเฟส จะกลายเป็นท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ด้วยศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าถึงราว 3.5 ล้านทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต)
โดยท่าเทียบเรือที่ทันสมัยแห่งนี้ นับเป็นส่วนสำคัญในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (eec) หรืออีอีซี เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
(เรือขนส่งสินค้า เอ็ม.วี. โมล์ กลองเดอ (M.V. NOL GRANDEUR) ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าลำแรกที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือชุดดี เป็นการดำเนินงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกของท่าเทียบเรือชุด D ในประเทศไทย)
ข้อมูลเกี่ยวกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand – HPT) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งตู้สินค้าของประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนชายฝั่งของจังหวัดชลบุรีที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ลงมาเพียง 130 กิโลเมตร ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอำนวยความสะดวกเต็มรูปแบบ รวมถึง บริการสถานีขนถ่ายสินค้า ระบบรถไฟขนส่งรางคู่และมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ดีกว่าสู่ทางหลวงสายหลักเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 D2 และ D3
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ