[เรื่องเล่าคนดัง] การบริหารจัดการยาคงคลังในโรงพยาบาล (ตอนที่ 2)

การบริหารจัดการยาคงคลังในโรงพยาบาล ตอนที่ 2  ครั้งนี้เราว่ากันด้วยเรื่อง การปฏิบัติการของคลังสินค้ายาและปัญหา ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล มาอ่านต่อเลยค่ะ

ยาเป็นต้นทุนหลักของโรงพยาบาลมีมูลค่าในการเก็บสต็อกสูงกว่าเวชภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล มีระบบการจัดเก็บที่ยุ่งยากกว่าต้องการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ยาที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น เก็บรักษาในห้องเย็นอุณหภูมิ 20-25 ℃ ในตู้แช่เย็นประมาณ 2-8℃ และมียาวัคซีนบางชนิดที่เป็นเชื้อเป็น ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 ℃

ลักษณะทางกายภาพของยาแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน ข้อบ่งชี้ (Indication) และประสิทธิภาพ (Efficacy) ในการรักษาก็ต่างกัน หลักในการจัดเก็บยาต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ HA (Hospital Accreditation) และ JCI (Joint Commission International)

ผู้ที่บริหารคลังยาจะต้องมีความรู้ในการเก็บรักษาว่ายาประเภทใดควรจัดเก็บอย่างไร นอกจากการจัดเก็บจะต้องง่ายต่อการหยิบสินค้าแล้วจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น การจัดเก็บยาเคมีบำบัด (Chemo) ยาที่มีความเสี่ยงสูงในการใช้ (High Alert Drug) ควรจะต้องมีการจัดเก็บแยกกัน ป้องกันการปนเปื้อนข้ามผลิตภัณฑ์ (Cross-contamination) ระบุตำแหน่ง (location) อย่างชัดเจน ป้องกันการจัดยาผิดพลาด

สิ่งที่คนทำงานในคลังยาจะต้องระมัดระวังคือ ชื่อพ้อง มองคล้าย (Look Alive, Sound Alive or LASA Drug) หลายความแรง(Straight) ซึ่งหมายถึงขนาดความเข้มข้นของยา เช่น 10 mg. 20 mg. เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางยา (Medication Error) บางรายเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้นบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการสั่งใช้ยา การจ่ายยา และการบริหารยาจำเป็นต้องให้ความสำคัญยาที่มีชื่อพ้องมองคล้าย และมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับยากลุ่มนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ถูกต้องและปลอดภัย การจัดเก็บยาในคลังยาโรงพยาบาล (Medicine Main Store) จะต่างกับการเก็บยาของห้องยา (Drug Store) คลังยา (Medicine Main Store) จะจัดเก็บยาโดยแบ่งหมวดหมู่ของยาตามรูปแบบการใช้ (Category) เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ ยาภายนอก ยาฉีด อาหารเสริม ยาเคมีบำบัด ยาที่เก็บในตู้เย็น วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นต้น

ส่วนห้องยาซึ่งถือว่าเป็นคลังย่อย (Sub Stock) ของคลังยา กล่าวคือทำการเบิกยาจากคลังยาเพื่อนำไปจ่ายให้คนไข้ หรือจ่ายไปตามจุดบริการต่าง ๆ เช่น หอพักผู้ป่วย (Ward) ห้องฉุกเฉิน (ER) หอพักผู้ป่วยวิกฤต (I.C.U.) เป็นต้น ดังนั้นการจัดเก็บของห้องยาจะจัดเก็บตามกลุ่มอาการของโรค (Pharmacology)

นอกจากนี้การเรียกชื่อยาของผู้ที่ปฏิบัติงานในคลังยา กับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในห้องยาจะเรียกต่างกัน ทั้งๆที่เป็นยาชนิดเดียวกัน คือ ห้องยาเรียกชื่อสามัญทางยา (Generic Name) ส่วนคลังยาเรียกชื่อทางการค้า (Trade Name) นอกจากนี้ยายังมีชื่อย่อๆอีกมากมายที่ใช้กันทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ห้องยา เช่น MST. (Morphine), KCL (Potassium Chloride) เป็นต้น สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน (Operation) ของคลังยา กรณีที่มีการรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน

ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อนจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ค่อนข้างนาน จำต้องมีการเทรนแบบ OJT : On the job training และศึกษาคู่มือการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด

คำศัพท์โลจิสติกส์ในยาคงคลัง

  • Medicine Main Store การจัดเก็บยาในคลังยาโรงพยาบาล
  • Drug Store การเก็บยาของห้องยา
  • Sub Stock คลังย่อย

เอาล่ะค่ะ ตามตอนต่อไปนะคะ จะพูดเกี่ยวกับการลดต้นทุนในคลังสินค้ายาที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันข้อมูลอย่างไร

บทความ : อาจารย์ทัศนีย์ มีศิริ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม