ความสัมพันธ์ของการคลังสินค้าและกิจกรรมด้านอื่น ๆ  แบ่งเป็นดังนี้

  • การจัดการคลังสินค้ากับการผลิต

การผลิตที่ผลิตเป็นปริมาณน้อยแต่ทำการผลิตบ่อยๆ หรือการผลิตที่ผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า หรือที่เรียกว่าระบบการผลิตแบบตามคำสั่งซื้อ (Make to order) นั้นจะทำให้ต้นทุนด้านสินค้าคงคลังน้อย แต่ต้นทุนการตั้งสายการผลิตสูง (Setup cost) ซึ่งอาจจะสูงมากจนทำให้ต้นทุนรวมของการผลิตสูง ในทางตรงกันข้ามในระบบการผลิตที่ผลิตต่อครั้งเป็นปริมาณมาก (Make to stock) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการตั้งสายการผลิตต่ำ แต่ต้องมีต้นทุนสินค้าคงคลังสูง ซึ่งมีความจำเป็นต้องสร้างคลังสินค้ารองรับและมีระบบการจัดการคลังสินค้าที่ มีประสิทธิภาพ

  • การจัดการคลังสินค้ากับการขนส่ง

การคลังสินค้ากับการขนส่งมีความสัมพันธ์กันมาก กล่าวคือ ในการขนส่งที่ต้องการรวบรวมสินค้าก่อนการขนส่ง(Consolidate) เพื่อประโยชน์ของการขนส่งที่เป็นปริมาณมาก นั้นจำเป็นต้องใช้คลังสินค้าเป็นจุดรวบรวมและกระจายสินค้า(Consolidate point) ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดค่าขนส่ง (Transportation cost) ถึงแม้ว่าการขนส่งบางประเภทจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งลงได้โดยไม่ต้องใช้คลัง สินค้าช่วย เช่น ระบบการขนส่งแบบ Milk run แต่ก็ต้องใช้ระบบการจัดการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้องอาศัยการแบ่งปัน ข้อมูลที่มาก และยังต้องการระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงด้วย

  • การจัดการคลังสินค้ากับการบริการ

การคลังสินค้ากับการบริการมีความสัมพันธ์กันมาก กล่าวคือ ในกิจการบางประเภทต้องการระดับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่รวดเร็ว และแม่นยำ เช่น ระบบในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น จำเป็นต้องใช้คลังสินค้าและระบบการจัดการคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อ ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ