7 สิ่งที่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโลจิสติกส์ (logistics)
- ประการแรก คือ ความเข้าใจผิดว่าโลจิสติกส์นั้นครอบคลุมถึงโซ่อุปทานแล้วในความเป็นจริงนั้น โซ่อุปทาน (Supply Chain) นั้นกว้างใหญ่กว่า ซึ่งว่าด้วยโครงสร้างจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ วัตถุดิบจนถึงมือลูกค้าและโลจิสติกส์เป็นกิจกรรมในโซ่อุปทานที่จะบริหารจัดการโลจิสติกส์เพื่อให้โซ่อุปทานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ประการที่ 2 ข้อเข้าใจผิดว่า โลจิสติกส์ คือ การขนส่งความเข้าใจผิดเกิดจาก การตั้งชื่อบริษัทรถขนส่งที่มักจะติดป้ายข้างรถว่า xxx โลจิสติกส์ ซึ่งในความเป็นจริง การขนส่งคือส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์ เพราะด้วยเหตุที่กิจกรรมโลจิสติกส์ว่าด้วยการจัดเก็บและเคลื่อนย้ายจากวัตถุดิบจนถึงถือผู้บริโภคในโซ่อุปทานนั้น กิจกรรมที่เห็นชัดในชีวิตประจำวันที่เคลื่อนย้ายให้เห็นคือ การขนส่งจึงถูกมองว่าโลจิสติกส์ คือ การขนส่งซึ่งมองผ่านถึงกิจกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยรวมถึงการบริการจัดการวัตถุดิบ การวางแผนจัดการการผลิต การจัดลำดับตารางการผลิตการจัดการวัสดุคงคลัง การจัดการโกดังสินค้า และกระจายสินค้า ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งสิ้นซึ่งมิใช่การขนส่งอย่างเดียว
- ประการที่ 3 เป็นความเข้าใจผิดต่อเนื่องจากประการที่ 2 คือ เมื่อโลจิสติกส์คือการขนส่ง ดังนั้นการทำให้ระบบโลจิสติกส์ดีขึ้น คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมหมวดต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำทางอากาศ หากในความเป็นจริงแล้วนั้นโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการไหลของสินค้าจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งเท่านั้นแต่การขับให้เกิดการไหลอย่างมีประสิทธิภาพนั้นคือระบบบริหารจัดการการไหลบนโครงสร้างพื้นฐานดังนั้นการส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่มีประสิทธิภาพทุกหมวดอย่างแท้จริงนั้นคือการประกบคู่ไปกับระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพที่เกิดจากการวิเคราะห์การไหลอย่างถ่องแท้แล้ว
- ประการที่ 4 มีความเข้าใจผิดถึงการให้ความสำคัญกับคำว่าโลจิสติกส์ เกินความจริงเพราะโลจิสติกส์ถูกมองว่าเป็นยาเม็ดวิเศษในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและประเทศ ซึ่งความเป็นแล้วโลจิสติกส์ คือ ระบบและกิจกรรมที่เกิดขึ้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้นคือการเข้าไปบริหารจัดการกิจกรรมและระบบการไหลนี้
- ประการที่ 5 สาขาวิชาโลจิสติกส์อยู่ในคณะใดของมหาวิทยาลัยใครควรเป็นเจ้าของหลักสูตรโลจิสติกส์เป็นศาสตร์ด้านบริหารหรือวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ ในปัจจุบันวิชาการเรียนการสอนโลจิสติกส์จะปรากฏตามคณะต่าง ๆ ที่เป็นรายวิชาและทั้งเป็นหลักสูตร ถ้าเป็นหลักสูตรจะเห็นชื่อปริญญาทั้ง MBA (Master of Business Administration) , MSC ( Master of Sciences) หรือ M.Eng (Master of Engineering) ดังนั้นการจัดการโลจิสติกส์เป็นศาสตร์สหสาขาวิชาเพราะทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยศาสตร์แขนงต่าง ๆทั้งเครื่องมือการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ และศาสตร์การบริหารจัดการทั้งระดับกลยุทธ์และระดับปฏิบัติการ ดังนั้นความเป็นสหสาขาวิชาของศาสตร์ด้านนี้จะดำรงอยู่โดยไม่สามารถจะไปกำหนดได้ว่า ควรจะไปอยู่คณะใด หรือกลุ่มคนใดเป็นพิเศษ
- ประการที่ 6 โลจิสติกส์ใช้ใน SMEs ไม่ได้เพราะมีขอบเขตที่เล็กเกินไป โลจิสติกส์ควรใช้ในระดับประเทศในความเป็นจริงแล้วอะไรก็ตามที่มีกิจกรรมการไหลของวัตถุดิบจนถึงมือผู้บริโภคนั้นจะเกิดการบริหารจัดการโลจิสติกส์ทั้งสิ้นแต่การประยุกต์ใช้จะแตกต่างกันออกไปทุกกรณีต้องเริ่มจากการวิเคราะห์การไหลในโซ่อุปทานจึงจะทราบว่ากิจกรรมโลจิสติกส์ส่วนใดคือ คอขวด (Bottle neck) หรือ จุดอ่อนแล้วจึงเข้าไปรักษาซ่อมแซมส่วนนั้น ๆ โจทย์ของโซ่อุปทานที่ต่างกันก็จะมีการแก้ปัญหา ณ จุดกิจกรรมโลจิสติกส์ที่ต่างกัน
- ประการสุดท้ายคำว่าโลจิสติกส์คือคำย่อที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่เป็นเพียงค่านิยมที่อีกไม่นานจะเลิกนิยมกันหรือไม่ความเป็นจริงคือโซ่อุปทานและโลจิสติกส์เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้ว ตั้งแต่มีการค้าการขายกันเกิดขึ้นแต่มีการนิยามขึ้นมาเองว่า อาการแบบนี้ลักษณะแบบนี้ เรียกว่า โซ่อุปทานและโลจิสติกส์
ดังนั้น สิ่งนี้คงยังต้องคงอยู่ต่อไปการบริหารจัดการอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้ชื่อที่เปลี่ยนแปลงตามสมัยแต่หลักการและปรัชญาคงยังอยู่ตราบใดที่โลกธุรกิจอุตสาหกรรมยังต้องผลิตสินค้าไปสู่มือผู้บริโภค
ความมีเสน่ห์ของศาสตร์นี้คงอยู่ที่ความเป็นสหสาขาวิชาต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนงเข้ามาบูรณาการกัน การศึกษาด้านนี้คงมีต่อไปหากผู้บริโภคยังเป็นใหญ่ที่สุดในโซ่อุปทานความยากจะอยู่ที่ว่าจะบูรณาการองค์ความรู้เข้าด้วยกันอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยและพัฒนาแขนงนี้ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศไทยการบริหารจัดการองค์ความรู้และการต่อยอดของความคิดควรจะได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการเข้าด้วยกัน
<เพิ่มเติม> ความแตกต่างโลจิสติกส์ (Logistics) กับ ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) คืออะไร ?