Cycle Count หรือ “การนับสินค้าเป็นรอบ” หมายถึง การต้องนับสินค้าบ่อยๆ และทำทุกวัน เทคนิคนี้ช่วยให้ทราบสถานะของสินค้า แม้ว่าจะไม่เป็นปัจจุบัน แต่ก็ทันสมัยเพียงพอกับความต้องการของผู้บริหารและส่งผลให้เกิดการจัดการสินค้าคงคลังที่ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น

การจัดทำ Cycle Count เริ่มจากการแบ่งประเภทของสินค้าตามความสำคัญของสินค้าโดยใช้หลักการ ABC ของ Pareto ซึ่งสินค้าที่แบ่งอยู่ในหมวด A หมายถึง สินค้าที่มีความสำคัญกับองค์กรมาก เป็นสินค้าที่สร้างยอดขายหลักให้กับองค์กร

และสังเกตุให้ดีจะพบว่ามีไม่กี่รายการเท่านั้นที่เป็นสินค้าเกรด A ของบริษัท ส่วนสินค้าที่อยู่ในหมวด B ก็เป็นสินค้าที่มีความสำคัญปานกลางจำนวนรายการก็ปานกลางด้วยเช่นกัน และสินค้าในหมวด C คือ สินค้าที่มีความสำคัญน้อยและที่สำคัญมีเป็นจำนวนมากประมาณ 50-60% ของสินค้าทั้งหมด

การแบ่งประเภทของสินค้าในคลังตามความสำคัญนี้ช่วยให้บริษัทสามารถจัดสรรเวลาและทรัพยากรเพื่อมุ่งดูแลสินค้าที่มีความสำคัญกับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากแบ่งประเภทของสินค้า สิ่งที่ควรคำนึงต่อมาก็คือ การวางแผนการนับสินค้า ซึ่งการนับสินค้านั้นจะต้องนับทุกวัน เพราะเราจะไม่นับสินค้าครบทุกรายการ กล่าวคือ ให้พนักงานทุกคนนับสินค้าวันละ 3-5 รายการ ไม่เกิน 3-6 เดือน ก็สามารถนับสินค้าครบทุกรายการ ส่วนช่วงเวลาที่ใช้ในการนับให้บริษัทพิจารณาว่าช่วงใดเป็นช่วงเวลาที่พนักงานว่าง เนื่องจากงานในคลังสินค้าไม่ได้ยุ่งตลอดเวลา ให้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการนับสินค้า เป็นการกระจายงานในคลังสินค้าไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในบางช่วงเวลา

ส่วนการวางแผนรอบการนับสินค้า ก็ใช้หลักที่ว่า หากสินค้าใดขายดีหรือมีความสำคัญมากก็ให้จัดรอบการนับบ่อย ๆ เช่นสัปดาห์ละครั้ง หรือ 2-3 วันต่อครั้ง แต่ถ้าสินค้าใดมีความสำคัญน้อยก็ให้จัดรอบการนับสินค้าห่าง เช่น เดือนละครั้ง หรือไม่เกิน 3-6 เดือนต่อครั้ง เป็นต้น เนื่องจากสินค้าที่ขายดีต้องการทราบสถานะที่เป็นปัจจุบันมากกว่า เพราะจะส่งผลกระทบต่อองค์กรมากกว่า

หลังจากการนับสินค้าครบทุกรายการภายในระยะเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน (ซึ่งสินค้าเกรด A ของบริษัทก็จะถูกนับหลายรอบ) จะพบว่าเราได้ผลพลอยได้จากการทราบจำนวนของสินค้าที่เป็นปัจจุบันอย่างมาก ส่งผลให้สามารถวางแผนการจัดการสำหรับสินค้าคงคลังแต่ละรายการได้อย่างเหมาะสม อาทิเช่น การกำหนดระดับของสินค้าที่เหมาะสม (ระดับ Max-Min) การกำหนดระดับสินค้าคงคลังสำรอง (Safety Stock) การกำหนดระดับสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point)